มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากขึ้น เพราะอายุที่มากขึ้น ย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น และเพศชายมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือการได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อรู้ทันโรคและสามารถหาทางป้องกันและดูแลตนเองเพื่อให้ปลอดภัยจากอาการของมะเร็งกระเพาะได้เป็นอย่างดี
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร คือ
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในเยื่อบุกระเพาะอาหาร อาการในระยะเริ่มต้นอาจไม่รุนแรงและมีลักษณะคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง แน่นท้อง กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารบางชนิด อาหารรมควัน รวมถึงผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็งที่ส่วนอื่นของร่างกาย อาการมะเร็งกระเพาะอาหารมักพบในเพศชายได้มากกว่าในเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
สาเหตุของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
สาเหตุของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ยังไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า สาเหตุเกิดจากสาเหตุอะไร มีสาเหตุมาจากอะไรที่ทำให้เป็นตัวการในการเกิดเซลล์มะเร็งที่กระเพาะอาหาร มีเพียงปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการเกิดเซลล์มะเร็ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- มักพบในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากขึ้น ในเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง ถึง 2 เท่า หรือผู้มีประวัติบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวที่เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จึงทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
- การรับประทานอาหารประเภทหมักดอง หรืออาหารประเภทรมควัน หรือปลาเค็ม อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกะเพราะอาหารได้มากขึ้น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถทำให้เกิดการอักเสบและแผลในกระเพาะอาหารได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น
- ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน มะเร็งเต้านม รวมถึงผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
- ผู้ที่มีการสัมผัสฝุ่น สารเคมี และสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน
การวินิจฉัยโรค
- การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
- การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ถือเป็นการตรวจหลักในการวินิจฉัย ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี การย้อมสีที่เยื่อบุและการขยายภาพ ทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งในระยะแรกได้
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan ซึ่งจะแสดงภาพอวัยวะภายในเพื่อให้เห็นตำแหน่งของโรคและการกระจายของโรค ได้ละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา
อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
อาการมะเร็งกระเพาะอาหาร ในระยะแรกของโรคอาจไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะและอาจมีอาการคล้ายโรคอื่น ๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ ได้แก่ รู้สึกอาหารไม่ย่อยหรือ รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร คลื่นไส้เล็กน้อย ไม่อยากรับประทานอาหาร มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลุกลามขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้ รู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนในอุจจาระ อาเจียน โดยอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้ ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ น้ำหนักตัวลดลง ปวดท้องหรืออาเจียน เป็นอาหารที่กินเข้าไป เนื่องจากมีการอุดตันของกระเพาะอาหาร กลืนติด หรือทานอาหารได้ลดลง อ่อนเพลีย
การรักษามะเร็งในกระเพาะอาหาร
สามารถรักษามะเร็งได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งและการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็ง โดยมีแนวทางในการรักษาดังนี้
- การผ่าตัด
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพียงบางส่วน (Partial Gastrectomy) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้อร้ายที่ส่วนล่างของกระเพาะอาหาร
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารทั้งหมด (Total Gastrectomy) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้อร้ายที่ส่วนบนหรือกลางกระเพาะอาหาร หากเนื้อร้ายอยู่ใกล้กับส่วนปลายของหลอดอาหาร อาจต้องทำการผ่าตัดขยายหลอดอาหาร หลอดอาหารส่วนที่เหลือจะถูกรวมเข้ากับลำไส้เล็กส่วนบน
- การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการ ในกรณีที่ก้อนมะเร็งอุดตันกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้ปวดท้อง อาเจียน และรู้สึกแน่นท้องมากหลังรับประทานอาหาร สามารถทำได้โดยการใส่ขดลวดถ่างกระเพาะอาหารโดยการส่องกล้อง การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อกำจัดตำแหน่งอุดตัน หรือการผ่าตัดบายพาส เป็นต้น
- การทำเคมีบำบัด
การทำเคมีบำบัด โดยใช้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง อาจทำก่อนการผ่าตัดเพื่อลดจำนวนของเซลล์มะเร็งหรือหลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ และป้องกันการกลับมาของเซลล์มะเร็ง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น อ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ท้องเสีย โลหิตจาง น้ำหนักลด รู้สึกเหมือนมีเข็มจิ้มที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า เป็นต้น ผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับประเภทของยาที่ใช้ในการทำเคมีบำบัดและมักจะมีอาการดีขึ้นหลังจบการรักษา
- การฉายรังสี โดยใช้แสงที่มีพลังงานสูงในการกำจัดเซลล์มะเร็ง แต่ไม่นิยมทำการรักษาด้วยวิธีนี้ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบกับอวัยวะที่อยู่ใกล้กับกระเพาะอาหารได้ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง หรือมีเลือดออก อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เหนื่อย คลื่นไส้ ท้องเสีย ระคายเคืองผิว ผลข้างเคียงจะมีอาการดีขึ้นหลังจบการรักษาไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์