กระเพาะภาษาอังกฤษ Stomach หรือโรคกระเพาะอาหาร โรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งเกิดจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา มีความเครียด หรือรับประทานยาที่กัดกระเพาะ ยาแก้อักเสบ หรือแก้ปวดจำพวกที่ใช้ในโรคกระดูกและข้อ การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ ภาวะความเครียด, ความวิตกกังวล การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อ Helicobacter pylori สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของคนเรา มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะได้เช่นกัน การมีก้อนเนื้องอกในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นได้ทั้งเนื้อดี และเนื้อร้ายอีกด้วย ทำให้เกิดแผลในกระเพาะ และเป็นโรคกระเพาะอาหารได้ในที่สุด
อาการปวดท้องกระเพาะอาหารเป็นอย่างไร ?
- ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่เหนือสะดือ เช่น แสบร้อน แน่นอึดอัดท้องหลังรับประทานอาหาร อิ่มเร็วกว่าปกติ บางรายอาจมีเรอหรือคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
- อาจมีอาการของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ เรอเปรี้ยว หรือแสบร้อนหน้าอกร่วมด้วยได้ สาเหตุหลักของโรคกระเพาะอาหารเกิดจากการเสียสมดุลของกรดที่หลั่งออกมา ไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเยื่อบุกระเพาะอาหารมีความต้านทานกรดได้ไม่ดี
การรักษาและการดูแลตนเองของผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร
- การรับประทานยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ รับประทานยาต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย
- รับประทานอาหารในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ทุกครั้งที่รับประทานอาหารควรเคี้ยวให้ละเอียด
- งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟหรือเครื่องดื่มกาเฟอีน น้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่เสตอรอยด์ ยาสเตอรอยด์ และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่ใช้ยา
โรคกระเพาะอาหารชนิดที่มีแผล
อาจจะพบได้น้อยเมื่อเทียบกับโรคกระเพาะอาหารชนิดที่ไม่มีแผล แต่มีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เนื่องจากเป็นโรคที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร และแผลในกระเพาะอาหารทะลุ เป็นต้น หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่มีอาการปวดท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ มีประวัติเป็นเรื้อรังมานาน แต่สุขภาพทั่วไปไม่ทรุดโทรม บางรายมีอาการจุก เสียด แน่น เจ็บ แสบ หรือ ร้อน อาการมักจะสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารหรือชนิดของอาหาร เช่น อาจปวดมากเมื่อหิว หลังรับประทานอาหารจะทุเลา แต่บางรายอาการปวดเป็นมากขึ้นหลังอาหาร โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น
การส่องกล้องทางเดินอาหาร (Gastroscope , EGD) เพื่อดูกระเพาะหากวินิจฉัยออกมาว่ามีแผล
ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ดีที่สุดและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถเห็นรายละเอียดของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ชัดเจนดีกว่าการกลืนแป้ง การส่องกล้อง สามารถยืนยันตำแหน่งและขนาดของแผลที่ตรวจพบได้ นอกจากนี้การส่องกล้องฯ สามารถตรวจหาเชื้อ H.pylori โดยการคีบชิ้นเนื้อเล็กๆมาตรวจหาเชื้อหรือส่งตรวจพยาธิสภาพกรณีสงสัยมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย
โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล
เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหามากกับคนโดยส่วนใหญ่ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยหลักที่สำคัญ 2 ประการ คือ
- ความไวของประสาทการรับรู้ความรู้สึกของกระเพาะอาหารและลำไส้มากผิดปกติ โดยเฉพาะต่อกรด หรืออาหารมันทำให้เกิดอาการแน่น หรือปวดท้อง
- กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น การขยายตัวของกระเพาะอาหารลดลง หรือมีการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่ทำให้เสียชีวิต ไม่มีเลือดออก และไม่กลายเป็นมะเร็ง
การรักษาโรคกระเพาะอาหารไม่มีแผล
การรักษาที่สำคัญที่สุด คือเน้นเรื่องการแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติตัว และการเข้าใจถึงการดำเนินโรค เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่เป็น ๆ หายๆ เพื่อจะได้ไม่เกิดความกังวล เมื่อมีอาการเกิดขึ้นในภายหลัง การดูแลตนเอง สิ่งที่ต้องเน้นเป็นสำคัญ คือ เรื่องของอาหาร
- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด เปรี้ยว รสจัด อาหารหมักดอง เช่น ผลไม้ดอง ผักดอง
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของทอด ของมัน เนื่องจากเป็นสารที่ย่อยยากกว่าสารชนิดอื่น
- ไม่ควรรับประทานจนอิ่มเกินไป เพราะจะทำให้กระเพาะขยายตัวกระตุ้นให้เจ็บ และปวดท้องมากขึ้น ลดปริมาณอาหารมื้อหลัก และเสริมในมื้ออาหารว่าง เพื่อไม่กระตุ้นให้เกิดการปวดท้อง และพยายามอย่าให้ท้องว่างเกิน 3 ชม. และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารทำงานหนักมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล เพราะความเครียดจะกระตุ้นให้กรดออกมาก ตามธรรมชาติเมื่อกรดออกมากจะสร้างแก็สมาก กระเพาะจะขยายและเกร็งตัวทำให้มีอาการปวดท้องมากขึ้น
โรคกระเพาะเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันทันใด แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่นานก็หายไป ซึ่งในแต่ละครั้งที่มันมา มันกลับไม่ได้มาเล่น ๆ มันมาพร้อมกับสร้างความทรมานให้กับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะเป็นอย่างมาก บางคนถึงกับต้องร้องโอดครวญให้กับความแปรปรวนของกระเพาะอยู่ข้างใน หากแสบมาก ๆ ถึงขั้นน้ำลายไหลออกปาก หรืออาเจียน แนะนำให้จิบนมจืดเข้าไป เพราะมันจะไปช่วยสมานแผลในกระเพาะ ที่สำคัญอย่าปล่อยให้มันเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะดีกว่าเพราะมันทรมานเป็นอย่างมาก