กระเพาะอาหาร (Stomach) ตั้งอยู่ใต้กะบังลมในช่องท้อง รูปร่างคล้ายตัวเจ (J)
กระเพาะอาหารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่อยู่เหนือช่องที่เปิดเข้าสู่กระเพาะอาหารส่วนบน (Cardiac orifice) ขึ้นไป เรียกว่า ฟันดัส (Fundus)
ส่วนที่อยู่ใกล้กับลำไส้เล็กตอนต้นเรียกว่า ไพลอรัส (Pylorus)
และส่วนที่อยู่ตอนกลาง ๆ เรียกว่า ลำตัว (Body) ซึ่งในแต่ละส่วนของกระเพาะอาหารจะมีลักษณะภายในโดยเฉพาะชั้นมิวโคซา ซึ่งเป็นชั้นในสุดแตกต่างกันออกไป
หน้าที่ของกระเพาะอาหาร
กระเพาะอาหารถือว่าเป็นระบบย่อยอาหาร เป็นที่เก็บสะสมอาหาร เป็นอวัยวะย่อยอาหาร ลำเลียงอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กในอัตราที่พอเหมาะ สร้างสาร Intrinsic Factor (IF) ควบคุมการดูดซึมวิตามินบี 12 ที่ลำไส้เล็กเพื่อใช้ในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง
ร่างกายของคนเรา ต้องการสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย แต่อาหารที่เราทานเข้าไป ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ล้วนแล้วแต่มีโมเลกุลขนาดใหญ่เกิดกว่าที่เซลล์และเนื้อเยื่อของเราจะดูดซึมเข้าไปได้ ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่สำคัญของระบบย่อยอาหาร หรือระบบทางเดินอาหาร ที่จะย่อยอาหารต่าง ๆ ให้เล็กลงจนลำเลียงเข้าสู่เยื่อหุ้มเซลล์ได้ และสารอาหารต้องถูกย่อยจนกลายเป็นสารโมเลกุลเดี่ยว เพื่อนำไปเลี่ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
อาหารทุกชนิดที่เราทานเข้าไปเมื่อผ่านกระบวนการย่อยอาหารเสร็จสิ้นแล้ว สารอาหารจะถูกดูดซึมกลับไปเป็นพลังงานให้ร่างกาย ส่วนที่เหลือคือกากอาหารจะถูกขับออกมาเป็นอุจจาระ ดังนั้น เราจำเป็นต้องขับถ่ายของเสียเหล่านี้ออก เพราะหากปล่อยให้ของเสียสะสมนานเกินไป อาจเกิดอาการท้องอืด หรือท้องผูก จนถึงขั้นเป็นริดสีดวงทวารได้
ลักษณะของกระเพาะอาหารมีประโยชน์ต่อการย่อยอาหารอย่างไร
การย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร มี 2 วิธี ดังนี้
- การย่อยเชิงกล เมื่อก้อนอาหาร (Bolus) จากหลอดอาหารตกถึงกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารจะมีการเคลื่อนไหวแบบคลื่นคลุกเคล้าอาหาร (Tonic Contraction) เพื่อให้อาหารผสมกับน้ำย่อย และมีการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างแรงมากเป็นช่วงๆ (Peristalsis) เพื่อดันให้อาหารเคลื่อนลงสู่ส่วนล่างของกระเพาะอาหาร
- การย่อยทางเคมีโดยใช้เอนไซม์ที่สร้างขึ้นจากต่อมในกระเพาะอาหาร
กล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารมีหน้าที่อย่างไร
กระเพาะอาหารนั้นมีกล้ามเนื้อหูรูด ทำหน้าที่ป้องกันอาหารและกรดภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร
เมื่อระบบย่อยอาหารผิดปกติ
ความผิดปกติของระบบย่อยอาหารเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย และที่พบได้บ่อยคือ
- ท้องเสียคนส่วนใหญ่มีอาการนี้โดยเฉลี่ยปีละ 1-2 ครั้ง อาการบ่งชี้คือถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ กลั้นอุจจาระไม่ได้ ท้องอืด คลื่นไส้ ซึ่งหากถ่ายเป็นน้ำเกิน 3 ครั้งต่อวัน และดื่มน้ำไม่เพียงพอ ผู้ป่วยอาจเผชิญกับภาวะขาดน้ำ จนเกิดผลข้างเคียงรุนแรงตามมาได้ อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ท้องผูกคืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อลำไส้บีบตัวน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระยาก อุจจาระแข็ง หรือถ่ายออกมาเป็นเพียงก้อนเล็ก ๆ รวมทั้งมีอาการท้องบวม ปวดท้อง แน่นท้อง การดื่มน้ำให้มากขึ้นกว่าปกติ 2-4 แก้วต่อวัน รับประทานผักและผลไม้ หรือยาถ่ายตามคำแนะนำของเภสัชกรอาจช่วยรักษาอาการท้องผูกได้
- โรคกรดไหลย้อนเป็นภาวะที่กรดภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร มักเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารหรือระหว่างนอนหลับ ทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางหน้าอก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้นาน ๆ ครั้งเป็นปกติ
- นิ่วในถุงน้ำดีคือก้อนแข็งขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี หากนิ่วไปอุดตันท่อน้ำดีที่เชื่อมต่อกับลำไส้ จะทำให้รู้สึกเจ็บแปลบบริเวณช่องอกด้านบนขวา ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการใช้ยาบางชนิด หรืออาจต้องผ่าตัด หากการรับประทานยาไม่สามารถช่วยสลายนิ่วได้
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบและเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) เป็นโรคอีกชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- โรคริดสีดวงทวารเกิดจากเส้นเลือดบริเวณทวารหนักหรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ที่อยู่ติดกับทวารหนักเป็นแผลอักเสบ อาจมีสาเหตุมาจากอาการท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสีย แผลจากการบีบรัดตัวของลำไส้
- แผลฉีกหรือแผลปริที่ขอบทวารหนัก (Anal Fissure) อาจมีสาเหตุมาจากการเบ่งถ่ายอุจจาระที่รุนแรงเกินไปหรือมีอุจจาระแข็ง ทว่าอาการท้องเสียหรืออุจจาระลักษณะเหลวก็อาจก่อให้เกิดแผลในลักษณะนี้ได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับโรคริดสีดวงทวาร คือ มีเลือดออกและรู้สึกเจ็บขณะเบ่งถ่ายอุจจาระการรักษาที่ดีที่สุดคือการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เพื่อช่วยให้ถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น