เป็นการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection : UTI) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะสั้น และอยู่ใกล้ทวารหนักซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก และในระบบขับถ่ายปัสสาวะจะมีไตเป็นตัวกรองของเสียในเลือดและควบคุมระดับความเข้มข้นของสารต่าง ๆ ในร่างกาย จากนั้นจะส่งของเสียผ่านท่อไตลงไปเก็บไว้ยังกระเพาะปัสสาวะจนเต็มและขับออกจากร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ ทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ปวดแสบขณะปัสสาวะ น้ำปัสสาวะสีขุ่น มีปริมาณน้อย และมีกลิ่นเหม็นผิดปกติเวลาฉี่จะปวดบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะมีเลือดปนในบางครั้ง
สาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
สาเหตุหลักที่พบมากที่สุด คือ การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล หรือ อีโคไล(Escherichia coli : E. coli), เคล็บซิลลา(Klebsiella), สูโดโมแนส (Pseudomonas), เอนเทอโรแบกเตอร์(Enterobacter) ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะมีอยู่มาก ที่บริเวณรอบทวารหนัก สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระไม่ถูกวิธี การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือการสวนปัสสาวะ นอกจากนี้ อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย แต่มักเกิดได้น้อยมาก เช่น เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง การใช้ยา การใช้ผลิตภัณฑ์บริเวณจุดซ่อนเร้น การฉายรังสีบริเวณกล้ามเนื้อเชิงกราน หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น
อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- มีอาการขัดเบา คือ ถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย มีอาการคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุด เวลาฉี่จะรู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยหรือหัวหน่าว ปวดแสบ ขัด ขณะปัสสาวะโดยเฉพาะตอนปัสสาวะสุด
- น้ำปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติ ในรายที่เป็นมากอาจปัสสาวะมีเลือดปน มักไม่มีไข้
การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและมีสาเหตุของโรคมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์มักจะใช้การรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไตรเมโทพริม (Trimethoprim) หรือยาไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) ซึ่งระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยและชนิดของแบคทีเรียที่พบในปัสสาวะ ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียครั้งแรก อาการมักค่อย ๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่วันหลังการรับประทานยา โดยจำเป็นต้องรับประทานยาติดต่อกันประมาณ 3 วันไปจนถึงสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างเคร่งครัดตามแพทย์สั่งแม้จะไม่มีอาการในช่วงท้าย เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียให้หมดไป
ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ถึงแม้ว่าการเกิดโรคปัสสาวะอักเสบอาจไม่รุนแรง แต่เมื่อได้รับการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม เชื้ออาจแพร่กระจายจากกระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อไตไปจนถึงกรวยไต ทำให้กรวยไตอักเสบและอาจจะสร้างความเสียหายกับไตอย่างถาวร หากผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะออกมามีเลือดปน ถ่ายปัสสาวะถี่มากขึ้น หรือรู้สึกปวดขณะถ่ายปัสสาวะเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์
เมื่อเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบดูแลตัวเองอย่างไร
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ควรถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด
- ควรดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ ประมาณ 6-8 แก้ว ต่อวัน ซึ่งการดื่มน้ำจะช่วยขับเชื้อโรคออกและลดการปวดแสบปวดร้อน เวลาปัสสาวะได้
- หลีกเลี่ยงสารอาหารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ เช่น กาแฟ แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ใส่น้ำตาล
- ควรอาบน้ำจากฝักบัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำในอ่าง เพราะอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ได้ยาที่ไม่ตรงกับชนิดของโรค หรือขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาไม่ถูกต้อง จึงอาจส่งผลให้โรคไม่หาย และอาจกลายเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังจากเชื้อดื้อยาได้
- ไม่สวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การทำความสะอาดด้วยสบู่ธรรมดาก็เพียงพอแล้ว
- หลังมีเพศสัมพันธ์ ควรปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดร่างกายทันที
- ควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน เพราะหากควบคุมไม่ได้ก็จะติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก
วัยทองเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
หากใครที่เริ่มขู่วัยทองต้องดูแลตัวเอง เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นตัวหลักในการควบคุมสมดุลกรดด่างของช่องคลอดและท่อปัสสาวะ ซึ่งเมื่อเสียสมดุล ช่องคลอดและท่อปัสสาวะจะง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นหากพบช่องคลอดแห้งมาก และมีปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบซ้ำบ่อย ควรพบแพทย์เพื่อรับยาที่ช่วยปรับระดับฮอร์โมนและสมดุลกรดด่างในช่องคลอดให้ดีขึ้น และรักษาจุดซ่อนเร้นให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา