วิธีรักษาโรคกระเพาะนั้น สามารถรักษาได้หลายวิธี เป็นโรคที่พบได้บ่อย คนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ โดยการเกิดแผลในกระเพาะมักพบในวัยกลางคน ขณะที่การเกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นจะพบในวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตามการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศและทุกวัย
สาเหตุโรคกระเพาะ
เกิดจากมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปร่วมกับความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงทำให้มีแผลเกิดขึ้น และปัจจุบันพบว่ายังมีปัจจัยเสริมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคได้อีก ได้แก่
- การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor Pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ผนังกระเพาะจึงอ่อนแอลงและมีความทนต่อกรดลดลง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดแผลได้ง่าย แผลหายช้า และเกิดแผลซ้ำได้อีก
- รับประทานสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้ เช่น ดื่มชา กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ ยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์ เป็นต้น
- มีอุปนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ รับประทานไม่เป็นเวลาหรืออดอาหารบางมื้อ เป็นต้น
อาการเมื่อเป็นโรคกระเพาะ
มักมีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียดหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้เป็นได้ทั้งเวลาก่อนรับประทานอาหารหรือหลังรับประทานอาหารใหม่ ๆและเวลาท้องว่าง เช่น เวลาหิวข้าว ตอนเช้ามืดหรือตอนดึก ๆก็ปวดท้องได้เช่นกัน อาการปวดจะเป็น ๆหาย ๆ เป็นได้วันละหลาย ๆครั้ง หรือตามมื้ออาหาร และแต่ละครั้งที่ปวดจะนานประมาณ 15 – 30 นาที อาการปวดจะบรรเทาลงได้ถ้ารับประทานอาหาร ดื่มนมหรือรับประทานยาลดกรด
อาการแทรกซ้อน
โรคกระเพาะถ้าได้รับการรักษาและดูแลตนเองให้ถูกต้องส่วนใหญ่เป็นแล้วจะหาย แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจนมีอาการมากและเรื้อรังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เช่น
- เลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยสังเกตได้จากมีถ่ายอุจจาระสีดำหรืออาเจียนเป็นเลือดหรืออาเจียนมีลักษณะคล้ายผงกาแฟบดปนอยู่
- กระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ โดยสังเกตได้จากมีอาการปวดท้องรุนแรงทันทีทันใด หน้าท้องแข็ง กดเจ็บ
- กระเพาะลำไส้ตีบตัน โดยสังเกตได้จากมีอาการปวดท้อง รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว และอาเจียนเป็นอาหารที่ไม่ย่อยหลังรับประทานอาหาร
การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ
- วิธีรักษาโรคกระเพาะ โดยส่วนมากผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบมักจะรักษาตามอาการเป็นหลัก ซึ่งหากผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรที่มักพบได้บ่อย แพทย์ก็จะทำการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) , ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เพื่อช่วยการฆ่าเชื้อ
- ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์ก็จะรักษาไปตามอาการ เพื่อเป็นการประคับประคองและช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น อาทิ จ่ายยาลดกรดในกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) หรือเอช 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนีสต์ (H2-Receptor Antagonist หรือ H2 Blocker) เพื่อช่วยให้เกิดการหลั่งกรดและรักษาแผลที่เกิดในกระเพาะอาหาร
- นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากการรับประทานยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการปวด แพทย์ก็จะแนะนำให้หยุดพฤติกรรมการใช้ยาในเบื้องต้น รวมถึงทำการปรับเปลี่ยนยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันให้แทน อีกทั้งแพทย์ก็จะแนะนำให้หยุดพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้อาการแย่ลง อาทิ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน , เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการสูบบุหรี่
การรักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างไรให้ถูกวิธี
การรักษาที่สำคัญที่สุดของโรคกระเพาะ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระเพาะนั่นเอง การรักษาต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคที่พบ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยก่อนเพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะจากสาเหตุใด
การรักษาโดยหลักมี 2 แบบ คือ
- การรักษาด้วยยา โดยจะรักษาตามสาเหตุ เช่น มีการติดเชื้อแพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หากผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะไว แพทย์จะให้ยาลดอาการของโรคกระเพาะ
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การผ่าตัดกรณีที่มีเนื้องอกในกระเพาะอาหาร การปรับอาหาร การออกกำลังกาย
ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพราะการเอาใจใส่ในเรื่องการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของมัน ของทอด หลีกเลี่ยงการเข้านอนหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การงดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อควบคุมน้ำหนัก ทั้งหมดนี้ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเป็นการรักษาสำคัญที่ทำให้มีโอกาสหายขาดจากโรคกระเพาะอาหารได้