โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) เป็นโรคที่เกิดมีแผลขึ้นในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น บริเวณปลายหลอดอาหารส่วนที่อยู่ต่อกับกระเพาะอาหารร่วมด้วย อาการแผลในกระเพาะอาหารที่พบได้บ่อยคือปวดท้อง มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร หรือการใช้ยาแก้ปวดต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสดเป็นเวลานาน
แผลในกระเพาะอาหารพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หากปล่อยไว้แล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
สาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร
กรดและน้ำย่อย ที่หลั่งออกมาจะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ การสูบบุหรี่ ความเครียด อาหารเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์
อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว
- มีอาการแน่นท้องหรือรู้สึกไม่สบายในท้อง มักจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือกลางท้องรอบสะดือ มักมีท้องอืดร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังกินอาหาร ท้องจะอืดขึ้นชัดเจน
- มีอาการจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด และมักจะเป็นในเวลาที่ท้องว่างหรือเวลาหิว
- อาการที่ปวดแน่นมักจะบรรเทาได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด
- บางรายอาจมีอาการปวดมากขึ้นหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
- อาการปวดมักเป็น ๆ หาย ๆ เช่น ปวดประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ และหายไปหลายเดือน จึงกลับมาปวดอีก
- สุขภาพจะไม่ทรุดโทรม ถึงแม้ว่าจะมีอาการเรื้อรังมาเป็นปี
ภาวะแทรกซ้อนของโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- กระเพาะอาหารทะลุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องช่วงบนแบบเฉียบพลันและรุนแรง หน้าท้องจะแข็งตึง เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บมาก
- ผู้ป่วยจะกินได้น้อย เนื่องจากกระเพาะอาหารมีอาการอุดตัน ทำให้อิ่มเร็ว มีอาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ผู้ป่วยมักจะมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หรือเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม
บทความแนะนำ ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก By Rattinan.com
การตรวจ วินิจฉัยโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- แพทย์จะให้กลืนแป้ง เพื่อทำการเอกซเรย์ ซึ่งเป็นการตรวจที่สามารถทำได้ง่าย สะดวก เป็นการตรวจขั้นต้น แต่ไม่สามารถนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมได้
- วิธีการตรวจที่ได้มาตรฐานที่สุดและดีที่สุดคือการตรวจโดยวิธีการส่องกล้องทางเดินอาหาร เนื่องจากสามารถเห็นรายละเอียดของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ชัดเจนดีกว่าการกลืนแป้ง การส่องกล้องทางเดินอาหารสามารถตรวจหาเชื้อpylori โดยนำชิ้นเนื้อเล็ก ๆ มาตรวจหาเชื้อ หรือส่งตรวจทางพยาธิสภาพกรณีสงสัยมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย
- การตรวจหาเชี้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (pylori) สามารถตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง หรือตรวจจากลมหายใจด้วยวิธีการเป่า
การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
ให้รับประทานยาลดกรดหรือยารักษาแผลในกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 6 – 8 สัปดาห์ ในกรณีที่มีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ให้รับรับประทานยากำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ร่วมด้วย ซึ่งหลังจากได้รับยา อาการปวดจะหายไปก่อนใน 3 – 7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับยารักษาติดต่อกัน เป็นเวลานาน 6 – 8 สัปดาห์ แผลจึงหาย
หลังจากรักษาอาการแผลในกระเพาะอาหารแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารหมักดอง น้ำอัดลม
- รับประทานอาหารอ่อน ที่ย่อยง่าย
- งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา
- รับประทานอาหารจำนวนน้อย ๆ แต่ให้บ่อยมื้อ ในแต่ละมื้อไม่ควรกินให้อิ่มมาก
- พักผ่อนให้เพียงพอ หาเวลาผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตกกังวล
- งดยาแก้ปวดแอสไพรินและยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบทุกชนิด
- หากมีอาการปวดท้องรุนแรงหลังรับการรักษา หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักลดมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร คือ อาหารที่มีรสจัด ไม่ว่าจะเป็น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักของดอง อาหารที่ย่อยยาก อาหารทอด หลีกเลี่ยงการกินผลไม้ที่ทำให้มีอาการมากขึ้น บางคนรับประทานฝรั่งหรือสับปะรดจะมีอาการปวดท้องมากขึ้น จึงควรรับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เมื่อมีอาการดีขึ้นค่อยกลับมารับประทานอาหารปกติ
บทสรุป
อาการแผลในกระเพาะอาหาร เป็นอาการที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น เนื่องจากเมื่อเป็นแล้วจะสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็น ดังนั้นจึงควรดูแลตนเองให้ปลอดจากโรค ด้วยการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด พักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามหากิจกรรมทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย